ประเพณีเนื่องด้วยการออกพรรษาในประเทศไทย
รุ่นแก้ไขเมื่อ 04:05, 12 กันยายน 2562 โดย Nida (คุย | มีส่วนร่วม)
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกหลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงส์ถ้วนไตรมาส และแสดงอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลกนั้นมาตลอดเวลา 3 เดือน เมื่อถึงวันมหาปวารณา คือวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา จึงเสด็จมายังโลกมนุษย์โดยเสด็จมาทางบันไดสวรรค์ลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ อันตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันมหาปวารณาเพ็ญเดือน 11 วันนั้นถือกันว่าเป็นวันบุญกุศล ที่สำคัญวันหนึ่งของพุทธบริษัท โบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ”วันพระเจ้าเปิดโลก” วันรุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ กันเป็นการใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าโดยพุทธบริษัทได้พร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระสงฆ์ที่อยู่ทั้งหมดในที่นั้นกับทั้งพระพุทธองค์ด้วยโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนภัตตาหารที่ถวายในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง ของตนตามมีตามได้ ปรากฏได้มีการใส่บาตรในวันนั้นแออัดมาก ผู้คนเข้าไม่ถึงพระสงฆ์จึงเอาข้าวสาลีของตนห่อบ้าง ทำเป็นปั้นๆ บ้างแล้วโยนเข้าถวายพระ นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน เป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีว่าถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (บางแห่งก็ทำในขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ทุกๆ ปี ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิมเรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ จนทุกวันนี้
ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก
การเทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด 13 กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง 13 กัณฑ์ด้วย
ประเพณีถวายผ้ากฐินทาน
เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 - วันลอยกระทง) คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่น ตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)