มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนา

จาก wikipedia
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
M.jpg
  วธ.ร่วมมือกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ จัด "มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาและประเทศในอาเซียน” ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ หนุนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาติพันธุ์-ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวจัดงาน "มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาและประเทศในอาเซียน” กิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาสู่อาเซียน ตามโครงการเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ ธำรงไว้เพื่ออัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญา และคุณค่าทางวิถีชุมชนที่ดีงาม ปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดความรักและหวงแหน ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจพร้อมกับการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยที่ปีนี้รับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม - ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ณ บริเวณลานจอดรถ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ ๑๑ - ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายหลัก 4 ประการ ที่สำคัญ คือ สืบสาน รักษา ต่อยอด และหลักธรรมาภิบาล ประการที่ 1 ด้านการสืบสานงานวัฒนธรรมของชาติ โดยมีสาระสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของมรดกทางวัฒนธรรม ประการที่ 2 ด้านการรักษาและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมส่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากรบุคคลทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคล ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำจิตวิญญาณ ผู้นำศาสนา ให้มีส่วนร่วมเป็นแม่พิมพ์ (Role Model) ในการถ่ายทอดภูมิปัญญา องค์ความรู้ ประการที่ 3 การต่อยอดวัฒนธรรม ด้วยการนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม และประการที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยหลักธรรมาภิบาล และการสร้างคุณค่าทางสังคม (Value Creation) ซึ่งงาน"มหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาและประเทศ ในอาเซียน” กิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาสู่อาเซียน ตามโครงการเสริมสร้างเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์การท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ นับเป็นอีกหนึ่งงานที่ถือเป็นงานต้นแบบ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ ธำรงไว้เพื่อ อัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญา และคุณค่าทางวิถีชุมชนที่ดีงาม ปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดความรักและหวงแหน ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และที่สำคัญคือเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้ ให้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชน จังหวัด และประเทศ

ด้าน นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึง การร่วมมือกันในครั้งนี้ว่าในฐานะตัวแทนผู้จัดงานและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ที่ประกอบไปด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว และประเทศเมียนมานั้น เรามีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดจำนวน 43 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะ มีภาษา การใช้ชีวิต รวมถึงอาหารการกินเป็นของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาติพันธุ์มาโดยตลอด ซึ่งการร่วมกันจัด "งานมหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาและประเทศในอาเซียน” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ กระชับความสัมพันธ์กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเปิดโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศได้มาสัมผัสและเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งการจัดงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนที่ได้มาสัมผัส นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลิน ได้รับความรู้มากมายจากนิทรรศการและการสาธิตด้านศิลปวัฒนธรรมที่นำมาจัดแสดง รวมถึงได้ช่วยสนับสนุนสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชน และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ โดยการจับจ่ายสินค้าที่นำมาจำหน่ายที่งานนี้งานเดียวแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ล้านนาได้เผยแพร่วิถีชีวิตให้แพร่หลาย ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย นิทรรศการมีชีวิต การแสดงแสง สี เสียง ประวัติความเป็นมาของแต่ละชาติพันธุ์ดั้งเดิมของทั้ง 4 จังหวัด การละเล่นกีฬาของชนเผ่า และศิลปะการต่อสู้ และกิจกรรมไฮไลท์การประกวดอาหารชาติพันธุ์และแฟชั่นโชว์ชุดแต่งกายของแต่ละชาติพันธุ์ รวมถึงมีกิจกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๕ ด้าน ประกอบไปด้วย อาหาร, ภาพยนตร์และวิดีทัศน์, ผ้าและการออกแบบแฟชั่น, ศิลปะการต่อสู้ และการอนุรักษณ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณี โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

· กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ จาก ๔ จังหวัด โดยมีหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านภาษา การแต่งกาย อาหาร และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

· นิทรรศการ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาติพันธุ์

· การสาธิตภูมิปัญญาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเป็นภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของกล่มชาติพันธุ์

· การจำหน่ายอาหารชาติพันธุ์สร้างสรรค์สุขภาพ

· การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์

· สารคดีชาติพันธุ์ ๔ จังหวัดเกี่ยวกับด้านอาหารและเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม

"งานมหกรรมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาและประเทศในอาเซียน” กิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนาสู่อาเซียนตามโครงการเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม - ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ณ บริเวณลานจอดรถ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ ๑๑ - ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดตามข่าวสารและรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/กิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์