การอ่านกวีนิพนธ์

จาก wikipedia
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
55.jpg
    กวีนิพนธ์

1.กวีนิพนธ์ คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง มักมีคำเรียกแตกต่างกันไปหลายอย่าง เช่น กาพย์กลอน บทกวี หรือกวีนิพนธ์ ส่วนผู้แต่งมักเรียกตัวเองว่า กวี หรือ นักกลอน

1.1 ความหมายของกวีนิพนธ์
กวีนิพนธ์ หมายถึง คำประพันธ์ที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ และ มีคุณสมบัติเป็นสื่อกลางของความเข้าใจระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่าน คำว่าอย่างมีศิลปะ หมายถึง การสร้างสรรค์ความงามขึ้นด้วยตักอักษร เสียง จังหวะ หรือลำนำ และถ้อยคำ เป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งบางอย่างอันก่อให้ผู้อ่านนึกภาพได้อย่างสวยงาม
คำว่า สื่อกลางของความเข้าใจระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่าน หมายถึง กวีนิพนธ์นั้น นอกจากจะเป็นตัวแทนของประสบการณ์ของผู้เขียนแล้ว ยังเป็นตัวแทนประสบการณ์ของผู้อ่านอีกด้วย
1) ลักษณะสำคัญของกวีนิพนธ์
1.ความมีศิลปะหรือความงาม
2.กวีนิพนธ์ อาจมีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผนของไทยแต่เดิม
2) องค์ประกอบของกวีนิพนธ์
1.รูปแบบ หมายความรวมถึงรูปฉันทลักษณ์ เสียง จังหวะ คำและการเรียงคำ
2.เนื้อหา กวีนิพนธ์นั้นมิได้บอก "สาร" หรือส่งสารออกมาตรงๆ แต่เป็นการกระทบใจผู้อ่าน
1.2 ประเภทของกวีนิพนธ์
กวีนิพนธ์อาจจำแนกเป็นประเภทต่างๆ โดยพิจารณาจากรูปฉันทลักษณ์ เป็นกวีนิพนธ์ ที่มีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผน และกวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์อิสระ ซึ่งจะอธิบายโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
1) กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผน

ผู้อ่านกวีนิพนธ์ร่วมสมัยควรศึกษาประเภทและลักษณะของร้อยกรองของไทย แต่ดั้งเดิม เพื่อให้สามารถอ่านคำประพันธ์ นั้นๆ ได้ "รส" และถูกต้องมากยิ่งขึ้น ประเภทของกวีนิพนธ์ที่ควรศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีดังนี้

1.1 กาพย์ กาพย์เป็นร้อยกรองซึ่งมีกำหนดคณะ พยางค์ และสัมผัส มีลักษณะคล้ายกับฉันท์ แต่ไม่ได้กำหนดครุ ลหุ เหมือนคำฉันท์เท่านั้น
1.2 กลอน กลอนเป็นร้อยกรองที่บังคับคณะ สัมผัส ไม่บังคับ เอก โท ครุลหุ ไม่จำกัดวรรณยุกต์
1.3 โคลง โคลงเป็นร้อยกรองที่มีระเบียบ เรียบเรียงคำเข้าคณะโดยมีกำหนดเอก โท และสัมผัส แต่ไม่ได้ บังคับ ครุ ลหุ
2) กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์อิสระ

นอกจากคำประพันธ์ประเภทมีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผนแล้ว ยังมีกวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์อิสระคือ กลอนเปล่า กลอนเปล่าเป็นคำประพันธ์ที่นักกลอนเคร่งครัดบางท่านมองว่า "ไร้ฉันทลักษณ์" แต่อันที่จริงกลอนเปล่าเป็นงานที่มีฉันทลักษณ์ในตัวเอง กล่าวคือ ฉันทลักษณ์จะคลี่คลายไปตามเนื้อหา มิใช่การนำเนื้อหามาใส่ในกรอบของฉันทลักษณ์ กลอนเปล่าเป็นที่นิยมเขียนมากในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับมากขึ้นและมีแนวโน้มจะพัฒนาคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์อิสระยังรวามถึง วรรณรูปซึ่งหมายถึงงานกวีนิพนธ์ที่ใช้คำสร้างเป็นภาพต่างๆ เช่น ภาพเด็ก บ้าน นักวิาการบางท่านเรียกว่ากวีนิพนธ์รูปธรรม

    การอ่านกวีนิพนธ์

2.การอ่านกวีนิพนธ์ การอ่านกวีนิพนธ์นั้น ผู้อ่านต้องเข้าใจภาษาของกวี ลักษณะของกวีนิพนธ์ที่ดีจะต้องกระทบความคิด และ กระตุ้นอารมณ์ด้วยถ้อยคำ และเวลาอันจำกัด แต่ให้ความหมายมาก การอ่านกวีนิพนธ์จำต้องอ่านด้วยความรู้สึกนึกคิด การอ่านกวีนิพนธ์มีแนวทางดังนี้

2.1 อ่านจับใจความสำคัญของเรื่องและแก่นเรื่อง

การอ่านกวีนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้อ่านจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้

1)จับใจความสำคัญของเรื่อง

แนวคิดหรือแก่นเรื่องของเรื่องที่ปรากฏในบทกวีนิพนธ์ ผู้แต่งจะไม่บอกความหมายตรงๆ ผู้อ่านต้องพยายามค้นหาและตีความเอง

2)เข้าใจความหมายหลายนัย

กวีนิพนธ์บทหนึ่งๆ อาจมีความหมายได้หลายอย่าง เพราะกวีนิพนธ์จะไม่เสนอสารไว้ตรงๆ ผู้อ่านต้องใช้จินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด การเชื่อมโยง และการตีความ

3)จับน้ำเสียงที่ปรากฏอยู่ในแนวคิดหรือแก่นเรื่องของกวีนิพนธ์

ผู้อ่านต้องจับน้ำเสียงด้วยว่ากวีใช้น้ำเสียงอย่างไร เช่น เยอะเย้ย ถากถาง เห็นอกเห็นใจ

2.2ศึกษาความหมายของคำและการร้อยคำ
1)ความหมายของคำ

ความหมายของคำหรือศัพท์ที่กวีใช้ อาจพิจารณาความหมายได้ 3 ประเภท ได้แก่

1.1)ความหมายโดยอรรถ หมายถึง ความหมายตามอักษร เช่น ลิง หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่ง
1.2)ความหมายโดยนัย หมายถึง ความหมายที่ไม่ตรงกับรูปคำ เช่นถ้า ลิง หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นความหมายโดยอรรถ แต่ถ้าลิง หมายถึง ความซุกซน ลักษณะความหมายแบบนี้จะเป็นความหมายโดยนัย
1.3)ความหมายตามนัยประหวัด เป็นความหมายที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน เช่น งานวัด อาจหมายถึง สนุกสนาน เป็นต้น
2)การร้อยคำ

การร้อยคำหรือการเรียงคำ กวีนิพนธ์มักใช้คำเท่าที่จำเป็นเพื่อส่วนรวม อาจเป็นเพราะร้อยกรอง แต่ละชนิดจะมีการจำกัดจำนวนคำตามฉันทลักษณ์ เช่น กาพย์ยานี 11 กลอนแปด เป็นต้น

2.3ฟังเสียงและจังหวะ ความไพเราะของกวีนิพนธ์นั้น จะขึ้นอยู่กับเสียงและจังหวะของคำเป็นสำคัญ
1)เสียง เสียงในคำประพันธ์หรือกวีนิพนธ์ คือ ระดับความสูงต่ำ ลีลา และน้ำหนักของการออกเสียงอ่าน
2)จังหวะ จังหวะ คือ ท่วงทำนองของกลุ่มคำท่จัดวางเป็นวรรคตอนตามรูปแบบของฉันทลักษณ์ เพื่อเอื้อต่อการออกเสียง ให้เกิดความไพเราะ ความรู้สึก จินตนาการ
2.4จินตนาการให้เห็นภาพ จินตภาพในกวีนิพนธ์ ทำให้ผู้อ่านเห็น ได้ยิน สัมผัส รู้รส ได้กลิ่น จินตภาพเป็นภาพที่เกิดขึ้นในใจ มิใช่ภาพเช่นที่เราชมจากภาพถ่าย ผู้อ่านจะเกิดจินตภาพ เห็นภาพต่างๆ ได้ในความ

รู้สึกนึกคิด มิใช่เป็นการเห็นจากดวงตา

จินตภาพเกิดจากการใช้ คำ ความ เสียง และจังหวะของกวีนิพนธ์
2.5ศึกษาโวหาร

โวหาร เป็นภาษาที่ร้อยเสียงให้เกิดจินตภาพ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในกวีนิพนธ์ จินตภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจใช้คำว่า "ภาพพจน์" คือถ้อยคำที่ทำให้เกิดภาพนั่นเอง โวหารมีหลายแบบในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ บางลักษณะเท่านั้น คือ อุปลักษณ์ อุปมา และการกล่าวเกินจริง ดังจะยกตัวอย่างดังนี้

1)อุปลักษณ์

อุปลักษณ์ คือ การเปรียบเทียบ ของสองสิ่งว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือเท่ากันทุกประการ โดยใช้คำ "เป็น" "เท่า" "คือ" ในการเปรียบเทียบเช่น

"อัจกลับแก้วคือแววเดือนฉาย.........หาดทรายขาวราวฟูกบรรจถรณ์
ความหนาวเย็นเป็นผ้าห่มนอน.......ช่วยพิษร้อนให้วางวาย"
2)อุปมา

อุปมา เป็นโวหารที่เปรียบเทียบของสองสิ่งว่าเหมือนกัน มักใช้คำว่า เหมือน คล้าย ดุจ ดูราว ราวกับ เช่น

"เหมือนสายแก้วแวววับระยับเยื้อง.............ช้อยชำเลืองชมอุษาคราฉายแสง
พุน้ำหนึ่งผุดพุ่งจรุงแรง.......................ดั่งรุ้งแปลงแปลกฟ้าลงมาดิน..."
3)คำกล่าวเกินจริง

คำกล่าวเกินจริง คือ การที่กวีอาจกล่าวมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เพื่อสื่อให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพในความคิดคำนึงได้ดีขึ้น การอ่านบทกวีนิพนธ์ หากนำเอาข้อเท็จจริงหรือหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ไปวัด อาจทำให้ไม่ได้รสของถ้อยคำในการอ่าน ตัวอย่างโวหารหรือข้อความที่กล่าวเกินจริง เช่น

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย
2.6 ตีความสัญลักษณ์

การอ่านกวีนิพนธ์ควรตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ในกวีนิพนธ์บทนั้นๆ เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้ง สัญลักษณ์ คือ คำที่ใช้แทนสภาพ สิ่งต่างๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่ไม่ใช่ความหมายตามตัวอักษร เช่น ดอกประดู่ หมายถึงทหารเรือ เป็นต้น

2.7ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวรรณคดีและรูปแบบฉันทลักษณ์
1).พื้นความรู้เกี่ยวกับวรรณคดี

กวีนิพนธ์บางบทอาจเขียนเรื่องล้อเลียนเหตุการณ์ หรือ ความคิดในวรรณคดีสมัยก่อน หรือนำเอาเรื่องราวมาเขียนในบริบทใหม่ ผู้อ่านจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับ วรรณคดีหลักๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนาเป็นต้น

2).รูปแบบฉันทลักษณ์

กวีนิพนธ์จะใช้รูปแบบทางฉันทลักษณ์แตกต่างกันไปตามแบบแผน เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยกับรูปแบบของคำประพันธ์แต่ละประเภท จะช่วยอ่านแล้วเข้าถึงกวีนิพนธ์ได้ดียิ่งขึ้น

3).สรุป

กวีนิพนธ์เป็นศิลปะทางภาษาที่แสดงความงดงามของภาษาไทยอย่างชัดเจน การอ่านกวีนิพนธ์จึงเป็นการศึกษาและรับรสคุณค่าของภาษาได้ทางหนึ่ง ดังนั้นในการอ่านกวีนิพนธ์ผู้อ่านควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประเภทของกวีนิพนธ์แต่ละประเภทว่ามีฉันทลักษณ์บังคับอย่างไร เพื่อให้สามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ นอกจากนี้การอ่านกวีนิพนธ์ ต้องอาศัยทักษะในการตีความซึ่งถ้าผู้อ่านหมั่นขวนขวายหาความรู้รอบตัวอย่างกว้างขวางแล้ว ย่อมช่วยให้การอ่านกวีนิพนธ์นั้นๆ เข้าถึงอรรถรสซาบซึ้งถึงความงามในศิลปะทางภาษาชนิดนี้ได้อย่างดียิ่ง


วรรณคดี