ความหมายของวรรณศิลป์

จาก wikipedia
รุ่นแก้ไขเมื่อ 04:05, 9 กรกฎาคม 2562 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "ความหมายของวรรณศิลป์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525...")

ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ความหมายของวรรณศิลป์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525 ให้คำอธิบายความหมายของวรรณศิลป์ไว้ว่า คือศิลปะในการแต่งหนังสือ ศิลปะทางวรรณกรรม เช่น นักวรรณศิลป์ วรรณกรรมที่ถึงขั้นเป็นวรรณคดี หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี วรรณศิลป์ หรือศิลปะในการแต่งหนังสือมีหลักใหญ่ ๆ 3 ประการ ได้แก่ สุนทรียรส ความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อนำเสนอเรื่องราวและความคิดของผู้เขียน และเนื้อหาของเรื่องทีมีคุณภาพ องค์ประกอบของวรรณศิลป์มี 6 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.อารมณ์สะเทือนใจ (Emotion) 2. ความคิดและจินตนาการ (Though and Imagination) 3.การสื่อสารกับผู้อ่าน (Communication) 4. อัตลักษณ์ของผู้เขียน (Identity) 5.กลวิวิธีในการเขียน(Technique) 6.การจัดวางองค์ประกอบของเรื่อง ทิศทางของเรื่อง และสำนวนภาษาที่ใช้ในเรื่อง อย่างเหมาะสม (Composition, Direction and Wording) ซึ่งขออธิบายโดยสังเขป ดังนี้ 1.อารมณ์สะเทือนใจ (Emotion) เป็นเสมือนหัวใจของเรื่อง เพราะคนเราจะรับรู้และจดจำอารมณ์สะเทือนใจอย่างฝังใจ แม้ว่าบางครั้งอาจจะจำเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้ก็ตาม อารมณ์สะเทือนใจมีได้ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์แค้น อารมณ์สุข อารมณ์เศร้า หรือแม้แต่อารมณ์ขัน ตัวอย่างเช่นบทละครของเช็คสเปียร์จะมีอารมณ์สะเทือนใจสูงเสมอทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เศร้า รวมทั้งจิตอารมณ์ด้านมืดของมนุษย์ เรื่องแต่งที่ขาดอารมณ์สะเทือนใจก็ไม่ต่างอะไรจากกร่างที่ขาดวิญญาณหรือกระดาษเปล่า 2. ความคิดและจินตนาการ (Though and Imagination) เป็นเสมือนสมองของเรื่อง เราเรียนรู้เรื่องสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวากันมาแล้ว เรื่องที่ดีเปรียบเหมือนสมองสองซีกของมนุษย์ ซึ่งควรจะมีความสมดุลทั้งความคิดและจินตนาการ ความคิดเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ การทดลอง และประสบการณ์ ส่วนจินตนการมาจากความรู้สึกนึกคิด ความฝัน และการสร้างภาพในมโนสำนึก แม้ว่าไอน์สไตน์จะเคยกล่าวว่าจินตนการมีความสำคัญกว่าความรู้ แต่สำหรับนักเขียน ทั้งความรู้ความคิด และจินตนาการ มีความสำคัญใกล้เคียงกันและเกื้อกูลกัน เรื่องที่มีแต่ความคิดโดยปราศจากจินตนาการจะแห้งแล้งไร้สีสัน ขณะเดียวกันเรื่องที่มีแต่จินตนาการโดยปราศจากความคิดก็จะฟุ้งฝันฟูฟ่องเหมือนฟองสบู่ 3.การสื่อสารกับผู้อ่าน (Communication) เปรียบเสมือนปากของเรื่อง เพราะการเขียน คือการนำสารจากผู้เขียนไปสู่ผู้อ่านความสามารถในการส่งสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ว่าผู้เขียนจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันในเนื้อหาของสารหรือไม่ และจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม เชื่อตาม และติดตามสารนั้นหรือไม่ การส่งสารที่ดีนั้นจะต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับ ไม่ทำให้เกิดช่องว่างหรือการตีความที่ผิดแผกไประหว่างการเดินทางของสารจากผู้เขียนถึงผู้อ่าน  ดังนั้น ผู้เขียนจึงต้องเปล่งสารอย่างชัดเจน และหาทางให้ผู้อ่านส่งเสียงสะท้อนกลับมา เรื่องที่ไประสบความสำเร็จมักจะเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านตกอยู่ในวงสาร 

4. อัตลักษณ์ของผู้เขียน (Identity) เป็นเสมือนบุคลิกหรือลายนิ้วมือของผู้เขียน ซึ่งทำให้เรื่องของผู้เขียนคนนั้นมีความเป็นตัวของตัวเอง โดดเด่น และแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ อัตลักษณ์ในการเขียนเป็นส่วนประกอบระหว่างตัวตนของผู้เขียน วิสัยทัศน์หรือทัศนคติของผู้เขียน สีลา รวมทั้งสำนวนโวหารและทักษะในการเขียน โดยทั่วไปแล้ว ผู้เขียนอาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างอัตลักษณ์ หรือแสดงอัตลักษณ์ให้เป็นที่ปรากฏแก่ผู้อ่าน อย่างไรก็ตามอัตลักษณ์ต้องเป็นสิ่งที่แท้จริงมิใช่การแสร้งสร้าง เพราะไม่มีใครสามารถลวงหลอกทุกคนในทุกเวลา และที่สำคัญก็คือไม่มีใครสามารถหลอกตัวเองได้ตลอดกาล 5.กลวิธีการเขียน (Technique) เป็นทั้งแขนขาและกลไกในการขับเคลื่อนความคิดและจินตนาการของผู้เขียนมาสู่ผู้อ่าน ผู้เขียนจะต้องสามารถนำรูปแบบ และเครื่องมือต่าง ๆ ในการเขียน มาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่องรวมทั้งเป็นการเรียบเรียงเรื่องอย่างเป็นระบบ และลำเลียงเรื่องที่เรียบเรียงแล้วนั้นออกมาสู่ผู้อ่านด้วยรูปแบบที่น่าสนใจและชวนติดตาม  เรื่องบางเรื่องที่ไม่น่าสนใจแต่ผู้เขียนบางคนก็มีกลวิธีการเขียนให้สนุกสนานน่าสนใจได้ แต่เรื่องบางเรื่องที่น่าสนใจแต่ผู้เขียนบางคนก็ขาดกลวีการเขียนจนทำให้กลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อได้เหมือนกัน เข้าทำนอง "อันถ้อยความเดียวกันสำคัญกล่าว" 6.การจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางของเรื่องและสำนวนภาษาที่ใช้ในเรื่องอย่างเหมาะสม (Composition, Direction and Wording) เป็นเสมือนหน้าตาของเรื่องทีต้องมีการตบแต่งให้สะสวย องค์ประกอบของเรื่องจะต้องมีการจัดวางอย่างเหมาะสม ไม่รกหรือโล่งจนเกินไป มีน้ำหนักและโทนของเรื่องที่กลมกลืน มีการสร้างตัวละคร เหตุการณ์ สถานที่ ซึ่งมีความลงตัว เรื่องที่ดีทุกเรื่องจะต้องมีทิศทางหรือแผนทาง (road map) เพื่อกำหนดเป้าหมายและควบคุมการเดินเรื่อง มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้หลงทางหรือออกนอกเรื่องไป ขณะเดียวกับทิศทางหรือแผนทางก็จะช่วยให้เรื่องมีความกระชับไม่เยิ่นเย้อ สำนวนภาษาเหมือนเครื่องปรุงที่จะปรุงรสอาหารแต่ละจานให้มีรสชาติกลมกล่อม และเหมาะกับอาหารชนิดนั้น ๆ เช่นเรื่องรักก็ควรใช้สำนวนภาษาที่อ่อนหวานซาบซึ้ง เรื่องบู๊ก็ควรต้องใช้สำนวนภาษาที่รุนแรงดุดัน เรื่องสำหรับเด็กควรใช้สำนวนภาษาที่สื่อความหมายชัดเจนและเข้าใจง่าย หรือเรื่องตลกก็ควรต้องใช้สำนวนภาษาที่เฮฮาสนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งในข้อ 6.นี้ บางสำนักแบ่งออกเป็น 6 ข้อย่อย ได้แก่ ก.พลอตเรื่อง (Plot) ข.ตัวละคร (Character) ค.ฉากหรือสถานที่ (Setting) ง.บทสนทนา (Dialoque) จ.มุมมอง (Point of View) ฉ.แก่นของเรื่อง (Theme) กล่าวโดยสรุป วรรณศิลป์เป็นทั้งเครื่องมือและศิลปะของการแต่งหนังสือ ซึ่งผู้ที่เป็นนักเขียนจะต้อง ศึกษา ค้นคว้า และฝึกปรือจนมีความช่ำชองเรื่องที่ขาดวรรณศิลป์ ไม่อาจเรียกว่าเป็นวรรณคดี วรรณกรรม หรือเรื่องแต่งที่ดีได้