มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

จาก wikipedia
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา


มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม


    มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (อังกฤษ: intangible cultural heritage, ย่อ: ICH) ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโก โดยมุ่งเน้นไปยังวัฒนธรรมส่วนที่จับต้องไม่ได้เป็นหลัก คู่กับแหล่งมรดกโลก ใน พ.ศ. 2544 ยูเนสโกออกสำรวจเพื่อพยายามตกลงนิยาม และอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ร่างขึ้นใน พ.ศ. 2546 เพื่อการคุ้มครองและสนับสนุนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ปัจจุบัน (ธันวาคม 2561) ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แล้วทั้งสิ้น 508 รายการ ใน 122 ประเทศทั่วโลก

    นิยาม

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546 คำว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" นิยามดังนี้

“มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งเป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นใหม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ จะมีการพิจารณาเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เท่าที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีอยู่ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเท่านั้น รวมทั้งข้อกำหนดให้มีการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนทั้งหลาย กลุ่มชน และปัจเจกบุคคล และต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

    ประวัติศาสตร์มุขปาฐะ

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แตกต่างจากประวัติศาสตร์มุขปาฐะเล็กน้อย (ประวัติศาสตร์มุขปาฐะเป็นการบันทึก สงวนไว้ และตีความซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยอยู่บนประสบการณ์ส่วนบุคคลและความคิดเห็นของผู้เล่า) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มุ่งไปที่การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรม 'ไว้กับ' ผู้คนหรือชุมชนโดยปกป้องกระบวนการที่ทำให้ประเพณีและความรู้ที่สืบทอดกันมาสามารถส่งทอดต่อไปได้ ในขณะที่ประวัติศาสตร์มุขปาฐะมุ่งไปที่การเก็บและรักษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคล

     การสงวนรักษา

ก่อนที่จะมีอนุสัญญาของยูเนสโก ได้มีความพยายามของประเทศต่างๆ ในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายในการคุ้มครองสมบัติทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ. 2493 ซึ่งคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมทั้งประเภทที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ไทย ฝรั่งเศส โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ต่างก็มีโครงการคล้ายกันในเวลาต่อมา

อนุสัญญาที่ยูเนสโกประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2546 (มีผลเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2549) กำหนดให้ประเทศภาคีจัดทำรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และดำเนินการเพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สามารถดำรงสืบทอดอยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้ระดมเงินบริจาคระหว่างประเทศสมาชิกยูเนสโกมาใช้เพื่อการทำนุบำรุงมรดกที่ขึ้นทะเบียนแล้วอีกด้วย ยูเนสโกยังมีโครงการอื่นเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น โครงการขึ้นทะเบียน "Proclamation of Masterpieces of the Oral and Intangible Heritage of Humanity" ซึ่งเริ่มต้นด้วย 19 รายการเมื่อปี พ.ศ. 2544 เพิ่มเติมเป็น 28 รายการเมื่อปี พ.ศ. 2546 และเป็น 43 รายการในปี พ.ศ. 2548 เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ไขความไม่สมดุลในโครงการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) ที่ซีกโลกใต้เองมักจะเสียเปรียบเพราะมีอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างที่สำคัญจำนวนไม่มากเท่าซีกโลกเหนือ และท้ายที่สุดโครงการนี้ได้รับการทดแทนโดยการจัด "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" หรือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO Intangible Cultural Heritage Lists) ในปี พ.ศ. 2551

    ประเภทการสงวนรักษา

การขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มี 3 รายการ ได้แก่

1.รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)
2.รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding)
3.รายการที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา (Register of Good Safeguarding Practices)